วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

S3 Gallop

กลับมาที่เรื่องหัวใจกันอีกนิดครับ วันนี้เป็นเรื่อง S3 Gallop ครับ

ปกติแล้ว เมื่อเราฟังเสียงหัวใจของผู้ป่วย จะได้ยินเสียงหลัก ๆ อยู่สองเสียง คือ ตุบ-ตุบ (แต่ของฝรั่งมักจะใช้คำว่า Lub-Dub) ซึ่งเสียงแรก เกิดจากการกระแทกปิดของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบน กับหัวใจห้องล่าง (Mitral และ Tricuspid valve) ในช่วงที่หัวใจบีบตัว และเสียงที่สอง เกิดจากการกระแทกปิดของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ (Aorta) กับหัวใจห้องล่างซ้าย และลิ้นที่กั้นระหว่างหลอดเลือดแดงของปอด (pulmonary trunk) กับหัวใจห้องล่างขวา

และในบางครั้ง เสียงแรก (S1) ก็อาจจะแยกออกจากกันได้ ทั้งนี้เพราะลิ้นหัวใจ mitral กับ tricuspid ก็ไม่ได้ปิดพร้อมกันเป๊ะเสมอไป เช่นเดียวกับลิ้น aortic และ pulmonic valve ซึ่งก็อาจฟังได้เป็นเสียงแยกกัน เพราะก็อาจจะปิดไม่พร้อมกัน

แต่โรคหรือความผิดปกติบางอย่าง ก็จะทำให้เราได้ยินเสียงของหัวใจเพิ่มขึ้นมาจากเสียงเดิม เสียงนี้ก็ได้แก่ เสียงที่ 3 และเสียงที่ 4

สำหรับในตอนนี้ เอาเสียงที่ 3 ก่อนนะครับ
เสียงที่ 3 มีชื่อเรียกหลายแบบ บางคนเรียกว่า S3 gallop (คำว่า gallop แปลว่า การวิ่งควบของม้า เพราะเสียงนี้ทำให้เสียงหัวใจเหมือนเสียงฝีเท้าของม้าตอนวิ่งควบ) บางคนเรียกว่า Third heart sound เฉย ๆ แต่ที่ชัดที่สุด มีชื่อเรียกว่า Ventricular gallop

ที่ควรเรียกว่า ventricular gallop นี้ก็เพราะเสียงที่เกิดขึ้นมีสาเหตุอยู่ที่บริเวณหัวใจห้องล่าง หรือ ventricle นั่นเอง

ตามปกติแล้วหัวใจห้องล่าง จะมีความสามารถในการบีบตัวฉีดเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้ดี จนทำให้เมื่อสิ้นสุดช่วงการบีบตัว จะมีเลือดคงเหลือค้างอยู่ในหัวใจ (เรียกว่า End-systolic volume) น้อยมาก เมื่อเข้าสู่ระยะของการคลายตัว ลิ้นหัวใจเปิดออกเลือดที่อยู่ในหัวใจห้องบน ก็ไหลลงมาเดิมได้เป็นปกติ พร้อมรอการบีบตัวครั้งต่อไป

แต่ในผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของหัวใจอ่อนกว่าปกติ (systolic dysfunction) เมื่อมีการบีบตัวของหัวใจ เลือดไม่สามารถออกไปจากหัวใจได้มากเหมือนเคย กลับคงค้างอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่ระยะของการคลายตัว เลือดจำนวนมากจึงอยู่ภายใน ทำให้หัวใจห้องล่างมีเลือดอยู่เกือบเต็มแล้ว

และเมื่อลิ้นหัวใจเปิด เลือดที่อยู่ในหัวใจห้องบน ก็ทะลักลงมาสำทับกับเลือดที่มีอยู่แล้วภายใน จนทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของผนังหัวใจ ในช่วงที่หัวใจเริ่มคลายตัว (Early diastolic phase)

เสียงสั่นสะเทือนอันนี้เองครับ ที่เราเรียกว่า S3 gallop

ลักษณะเฉพาะของเสียงนี้ก็ได้แก่
1. เกิดตามหลังเสียงที่ 2 เพราะเป็นช่วงที่หัวใจคลายตัว (จำได้นะครับ ว่า เมื่อเริ่มบีบตัว ลิ้น Mitral/tricuspid ปิด เป็นเสียง 1 ช่วงหัวใจคลายตัว ลิ้น aortic/pulmonic ปิด เป็นเสียง 2)
2. เป็นเสียงต่ำ ไม่ดังเท่า S1 หรือ S2 เพราะเกิดจากการสั่นสะเทือน ไม่ได้เป็นจากการกระแทกปิดของลิ้น ดังนั้นจึงต้องใช้หูฟัง (Stethoscope) ด้านที่เป็น bell ฟังจึงจะได้ยินชัด
3. มีสาเหตุมาจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่ลดลง (Systolic dysfunction)

มีเสียงเอาไว้ให้หัดฟัง จาก YouTube ครับ


S3 Gallop

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น