หลักการในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะ hyperkalemia นั้นโดยทั่วไปอาศัยหลักการ 3 อย่างหลัก ๆ นะครับ นั่นคือ
- ต้องยับยั้งผลกระทบของภาวะของ hyperkalemia ที่มีต่อการทำงานของหัวใจ
- พยายามลดระดับของ K ในเลือดให้ลดลงอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการผลัก K เข้าสู่เซลล์ (Potassium redistribution)
- กำจัด K ให้ออกไปจากร่างกาย
เนื่องจากวิธีการในการรักษามีเนื้อหาและรายละเอียดค่อนข้างมาก เลยเลือกแบ่งเป็นตอนย่อย ๆ เพื่อให้สะดวกในการอ่านนะครับ ตอนนี้จะขอพูดถึงเฉพาะแนวทางในการพิจารณาเพื่อรับผู้ป่วยเข้าไว้รักษาในโรงพยาบาล และการให้การรักษาเบื้องต้นเพื่อป้องกันกันเกิด arrhythmia
ต้องให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลหรือเปล่า
สำหรับคำถามที่ว่าการรักษาภาวะ Hyperkalemia ในผู้ป่วย จำเป็นจะต้องทำในโรงพยาบาล (คือให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาภาวะนี้) หรือไม่นั้น คงไม่มีตัวเลขตายตัวที่เป็นข้อบ่งชี้ว่า ต้องตรวจพบระดับ serum K เท่าใด จึงจะต้องให้ผู้ป่วยอยู่รักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้เพราะผลกระทบของภาวะ hyperkalemia ที่มีต้องระบบต่าง ๆ ของร่างกายนั้น ขึ้นกับหลายปัจจัยนอกเหนือไปจากระดับ serum K อย่างเดียว เช่น ระดับ serum K ที่เกิดขึ้นนั้นเร็วช้าเพียงใด และระดับของ serum calcium หรือความเป็น กรด-ด่างของเลือดในขณะนั้นเป็นอย่างไรเป็นต้น
อย่างไรก็ตามมีเกณฑ์ในการช่วยตัดสินใจในการรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลคร่าว ๆ ดังนี้คือ
- Plasma K concentration ≥6.5-7.0 mEq/L ไม่ว่าจะมีความผิดปกติอื่นหรือไม่
- Abnormal ECG อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ tall peak T wave
- ตรวจพบในผู้ป่วยที่กำลังมี acute renal failure
- ผู้ป่วยมีโรคร่วมหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจต้องรักษาในโรงพยาบาล
Antagonism of cardiac effects
ในช่วงที่มี hyperkalemia จะมีผลทำให้ membrane potential ของ myocyte ลดลงจาก -90 mV เหลือประมาณ -80 mV ซึ่งทำให้เข้าใกล้การเกิด depolarization มาก (ตามปกติ myocyte จะเกิด depolarization ได้หาก potential ลดลงเหลือประมาณ -75 mV) ดังนั้นจึงมีโอกาสเกิด depolarization ได้ง่ายกว่าปกติ
Calcium สามารถเพิ่ม threshold ของการเกิด action potential ของเซลล์ได้ โดยมีผลทำให้ค่าความต่างของ membrane potential เข้ามาใกล้กับปกติมากขึ้น ทำให้เกิด myocardial excitability ลดลงและลดโอกาสเกิด arrhythmia ในผู้ป่วย hyperkalemia ได้
ในการรักษาภาวะ hyperkalemia ด้วย calcium นั้น สามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบ calcium gluconate และ calcium chloride โดยถ้าให้แบบ calcium gluconate ควรให้ 10% calcium gluconate 10 mL หรือ 10% calcium chloride 3-4 mL iv push ช้า ๆ (คำว่าช้า ๆ หมายถึงในช่วง 2-3 นาที) ระหว่างนี้ให้ monitor ECG ไปด้วย
หากได้ผลควรเห็นว่า ECG ที่ผิดปกติ (นอกเหนือจาก Tall peak T wave) หายไป ซึ่งโดยทั่วไปจะเห็นผลภายในเวลา 1-3 นาที และคงอยู่ได้ประมาณ 30-60 นาที ดังนั้น หากเลยเวลา 1-3 นาทีไปแล้ว ECG ยังไม่เปลี่ยนแปลง หรือดีขึ้นแล้ว แต่กลับมาเป็นใหม่ ก็สามารถให้ซ้ำได้ในขนาดเดิม
ที่มา
1. David B M , Kambiz Zandi-Nejad. Disorders of Potassium Balance. In: Taal: Brenner and Rector's The Kidney, 9th ed. 2011 Saunders.
2. Morgan, Jr. GE, Mikhail MS, Murray MJ. Chapter 28. Management of Patients with Fluid & Electrolyte Disturbances. In: Morgan, Jr. GE, Mikhail MS, Murray MJ, eds. Clinical Anesthesiology. 4th ed. New York: McGraw-Hill; 2006.