Like

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

Swan-Ganz Catheter with Balloon

เกร็ดความรู้วันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางการแพทย์อีกแล้ว แต่อันนี้ย้อนหลังไปไม่ไกลมากนัก ประมาณ 60 ปีที่ผ่านมานี้เอง เป็นเรื่องของ Swan-Ganz Catheter ครับ

ก่อนหน้าที่จะมีการใช้ Swan-Ganz pulmonary artery catheter นั้น ได้มีวิวัฒนาการเกี่ยวกับค้นหาวิธีการวัดความดันเลือดในหลอดเลือดและในหัวใจในการศึกษาทางสรีระวิทยา ซึ่งต้องอาศัยสายสวนหลอดเลือดที่จะสามารถผ่านตรงเข้าไปในหัวใจได้ สายเหล่านี้ เริ่มต้นจากการดัดแปลงเอาสายสวนทางเดินปัสสาวะ (Urinary catheter หรือ Foley catheter) ไปจนถึงผลิตสายขึ้นมาใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ปัญหาในระยะแรกก็คือ ต้องทราบตำแหน่งที่แน่นอนของปลายสายว่าอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการวัดความดันหรือไม่ ซึ่งในสมัยนั้นการถ่ายภาพ x-ray และ fluoroscopy ได้เกิดขึ้นแล้ว สายจึงถูกพัฒนาให้มาเป็นสายที่ทึบรังสื (ส่วนมากเป็นโลหะ) เพื่อให้ถ่ายภาพได้ แต่ก็ต้องประสบปัญหาต่อมาก็คือ สายที่ถูกผลิตขึ้นมานั้น แม้จะมองเห็น ก็ค่อนข้างแข็ง และขนาดใหญ่เกินไป จนในบางครั้ง ไม่สามารถสวนเข้าไปในหัวใจได้ อีกทั้งในบางครั้งแทงเข้าผนังหัวใจจนเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง

นายแพทย์ Harold C J Swan ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้าหน่วย Coronary Care Unit ต้องการจะหาวิธีที่จะใส่สายเข้าไปในหัวใจได้ง่าย แม่นยำ และไม่ต้องใช้การถ่ายภาพรังสีมาช่วย เขาได้พยายามฝึกใส่สาย catheter ที่มีขนาดเล็กลง (ในตอนนี้มีคนพยายามทำจนสำเร็จแล้ว แต่ทำในคนปกติ สายนั้นมีชื่อเรียกว่า Bradley's catheter) แต่ Swan ไม่สามารถทำได้สำเร็จ

วันหนึ่งขณะที่ Swan เพิ่งได้พักงานจากโรงพยาบาลก็เดินทางไปเที่ยวชายหาดพร้อมครอบครัว ในระหว่างที่เขาเหม่อมองไปในทะเล เขาได้มองเห็นเรือใบล่องลอยไปในทะเลได้ทั้งที่ไม่มีคลื่น แต่อาศัยแรงลมที่พัดตีที่ใบเรือ เขาเกิดประกายความคิดขึ้นมาทันที

"ถ้าเรามีร่ม หรือใบติดกับปลายสายสวนของเรา แล้วปล่อยให้ไหลไปตามแรงการไหลของเลือด ก็น่าจะทำให้ปลายสายเข้าไปตามหลอดเลือดได้ไม่ยากแน่"

หลังจากที่เขากลับมา ก็ได้ปรึกษากับทีมวิจัยที่ผลิตอุปกรณ์ (ในตอนนั้นคือ Edwards Laboratories ปัจจุบันคือ Edwards Lifesciences ซึ่งผลิตอุปกรณ์ vital signs monitoring ต่าง ๆ) ในที่สุดก็ได้อุปกรณ์ชิ้นใหม่ขึ้นมา แต่ไม่ใช่ร่มหรือใบเรือที่ติดอยู่ปลายสาย แต่เป็นลูกโป่งที่สามารถปล่อยลมเข้าออกสู่ปลายสายได้

สายที่ว่านี้เมื่อมีลูกโป่งติดอยู่ จะลอยอยู่กลางหลอดเลือดเสมอ (เพราะเป็นจุดที่ความแรงการไหลของเลือดสูงสุด) และสามารถเลี้ยวหรือเคลื่อนผ่านลิ้นหัวใจไปได้อย่างง่ายดาย

เห็นไหมครับ การคิดค้นอะไรใหม่ ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในที่ทำงานนะครับ หมั่นออกไปดูโลกภายนอกบ้าง ก็อาจจะดี (^^)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น