วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

Torus palatinus & Torus mandibularis

มีผู้ป่วยรายหนึ่งมาปรึกษาเรื่องสงสัยจะเป็นมะเร็งในช่องปากเพราะสังเกตเห็นก้อนบริเวณเพดานปาก เลยคิดว่าคงมีนักเรียนแพทย์ หรือแพทย์หลายคนเจอแบบนี้เหมือนกัน

ก้อนที่บริเวณเพดานปากนี้เรียกว่า Torus palatinus นะครับ (Torus แปลว่า หมอน หรือลักษณะก้อนวงกลมคล้ายโดนัท; Palatinus คือ ที่เพดานปาก) เป็นปุ่มกระดูกที่งอกออกมาจากบริเวณของเพดานแข็ง (hard palate) โดยมากมักอยู่แนวกลาง อาจเป็นก้อนเดี่ยว ๆ หรือหลายก้อนก็ได้ และปกคลุมด้วยเยื่อบุเพดานปากปกติเหมือนบริเวณอื่น ๆ 

สาเหตุของการเกิด Torus palatinus นี้ เป็นได้จากหลายเหตุ เช่น พันธุกรรม เชื้อชาติ (พบในคนเอเชีย อินเดียนแดง มากกว่าเชื้อชาติอื่น) เพศ (พบในผู้หญิงมากกว่าชาย) อายุ (มักพบในวัยผู้ใหญ่ช่วงต้น บางคนค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ ในบางคนกลับยุบลงเองได้เมื่ออายุมากขึ้น) และพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ mechanical factors เช่น การกัดฟันขณะนอนหลับ (Bruxism) 

ถ้าทำการตรวจภาพถ่ายรังสี ก็จะพบว่าเป็นปุ่มกระดูกงอกออกมาจากกระดูกปกติ (Exostosis) โดยไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย 

ถ้าพบรอยโรคแบบนี้ที่บริเวณฟันล่าง (ส่วนใหญ่ตรงฟันกรามบริเวณ premolar คือถัดจากฟันเขี้ยวเข้าไปด้านหลัง) ก็เรียกว่า Torus mandibularis ครับ

ภาวะนี้ไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ นะครับ เนื่องจากไม่ใช่ความผิดปกติที่น่ากังวล เว้นแต่เรื่องความสวยงาม และสร้างปัญหาให้กับทันตแพทย์ถ้าต้องทำฟันปลอม อย่างไรก็ตาม ถ้าทำให้เกิดปัญหา เช่น เกิดแผลบ่อยครั้งจากการรับประทานอาหาร ก็อาจจะพิจารณาผ่าตัดเอาออกได้ เพียงแต่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นเหมือนกันค่ะ แต่กระดูกมันโผล่ทะลุเหงือกออกมา อย่างนี้ต้องผ่าตัดออกใช่มั้ยค่ะ T_T

    ตอบลบ
  2. เราจับเจอเมื่อกี้นี้เองอ่ะตกใจหมดเลยเป็นตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้....

    ตอบลบ