วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Atrial Fibrillation with Complete AV Block

ผู้ป่วยชาย อายุ 64 ปี มีประวัติเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคไตเสื่อมและความดันโลหิตสูงมานาน รับยารักษาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านมาตลอด ครั้งนี้มาด้วยอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ญาติสังเกตว่านอนมากผิดสังเกต ถามแล้วตอบแบบสับสน จึงพามาโรงพยาบาล ตรวจร่างกายก็พบว่าผู้ป่วยมีอาการสับสน แต่ถามตอบพอได้ นอนราบได้ จับชีพจรก็พบว่าช้ามาก อัตราอยู่ที่ 35 ครั้งต่อนาที ที่ห้องฉุกเฉินก็ได้ทำการตรวจ ECG เพิ่มเติม

จากลักษณะ ECG จะเห็นได้ว่ามีภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ (bradycardia) และไม่ใช่ sinus rhythm โดยจะสังเกตได้ว่า QRS complexes นั้นไม่ได้มี P wave นำ แต่เป็นลักษณะ Atrial fibrillation ซึ่งเห็นได้ชัดใน lead V1 ซึ่งเป็น lead ที่วางอยู่ใกล้ ๆ Right atrium

หลาย ๆ คนอาจพบข้อสังเกตที่ว่า หากเป็น atrial fibrillation จริง ผู้ป่วยก็ควรจะมี irrgular ventricular response เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ผ่านออกมาจาก atrium นั้นมีอัตราเร็วมากไม่สม่ำเสมอ จึงผ่านมายัง ventricle ไม่สม่ำเสมอไปด้วย

แต่ในรายนี้จะเห็นได้ว่า QRS complex มันสม่ำเสมอ มี RR interval เท่ากันดีมากและช้าจนผิดสังเกต

ภาวะนี้เราเรียกว่า Atrial fibrillation with complete AV block นะครับ

สาเหตุนั้น อาจเป็นได้หลายอย่างเช่น เกิด acute ischemia ของ Atrioventricular pathway, infiltrative disease หรือเป็นจาก drug toxicity ต่าง ๆ เช่น digitalis, beta-blockers, calcium channel blockers, adenosine เป็นต้น ซึ่งในรายนี้เมื่อขอให้ญาตินำยาที่ใช้อยู่มาให้ดูก็พบว่า รับประทานยา beta-blocker แต่ผู้ป่วยมีภาวะไตเสื่อมมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้มีปัญหาเรื่อง drug toxicity ตามมา

สรุปว่า หากเราพบ ECG ของผู้ป่วยมีลักษณะ atrial activity เป็นแบบ atrial fibrillation แต่มี ventricular response สม่ำเสมอ จะต้องนึกถึง Atrial fibrillation with AV block เอาไว้เสมอนะครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น